ตับอักเสบจากไวรัส   หมายถึง การอักเสบของเนื้อตับ เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสพบเป็นสาเหตุอันดับแรกสุดของอาการดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง) ที่เกิดขึ้นในเด็กโตและผู้ใหญ่ จนเป็นที่เข้าใจกันว่า โรคดีซ่าน ก็คือ ตับอักเสบจากไวรัส โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในเด็กและคนหนุ่มสาว  

สาเหตุ

ในปัจจุบันพบว่าไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ที่สำคัญมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่Hepatitis_virus

1. เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A virus) ซึ่งทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A ) หรือ เดิมเรียกว่า Infectious hepatitis สามารถติดต่อโดยทางระบบทางเดินอาหาร กล่าวคือ โดยการกินอาหาร ดื่มนม หรือน้ำที่เปื้อนอุจจาระของคนที่มีเชื้อโรคนี้ (เช่นเดียวกับโรคบิด อหิวาต์ ไทฟอยด์) ดังนั้นจึงสามารถแพร่กระจายโรคได้ง่าย  ระยะฟักตัว ของตับอักเสบชนิดเอ 15-45 วัน (เฉลี่ย 30 วัน)

2. เชื้อ ไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B virus) ซึ่งทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B) หรือเดิมเรียกว่า Serum hepatitis เชื้อนี้จะมีอยู่ในเลือด และยังอาจพบมีอยู่ในน้ำลาย น้ำตา น้ำนม ปัสสาวะเชื้ออสุจิ เป็นต้น เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยทางเพศสัมพันธ์ หรือถ่ายทอดจากแม่ไปยังทารกขณะคลอด หรือหลังคลอดใหม่ ๆ (ทำให้ทารกมีเชื้อโรคนี้อยู่ในร่างกาย ซึ่งสามารถแพร่ให้คนอื่นได้)นอกจากนี้ โรคนี้ยังสามารถติดต่อโดยทางเลือด เช่น การให้เลือด การฉีดยา การฝังเข็ม การสักตามร่างกาย การทำฟัน     การใช้เครื่องมือแพทย์ที่แปดเปื้อนเลือดของผู้ที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้ เป็นต้น ระยะฟักตัวของตับอักเสบชนิดบี 30-180 วัน (เฉลี่ย 60-90 วัน)

นอกจากไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้แล้ว ยังมีไวรัสชนิดอื่น ๆ รวมเรียกว่า ไวรัสชนิดไม่ใช่ทั้งเอและบี ซึ่งทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดไม่ใช่ทั้งเอและบี (Non-A, Non-B hepatitis) ได้แก่

-          เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี (Hepatitis C virus)   ซึ่งสามารถติดต่อโดยทางเลือด (การให้เลือด, การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด)  และเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับชนิดบี (ระยะฟักตัวเฉลี่ย 6-7 สัปดาห์)

-          เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดอี (Hepatitis E virus)  ซึ่งสามารถติดต่อโดยทางอาหารการกินเช่นเดียวกับชนิดเอ

-          เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดจี (Hepatitis G virus)   ซึ่งสามารถติดต่อโดยทางเลือด (เช่น การให้เลือด,การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้ใช้ยาเสพติด)

-          เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดดี (Hepatitis D virus) ซึ่งมักพบร่วมกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี    พบมากในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ  และอาจทำให้อาการตับอักเสบจากเชื้อไวรัสบีมีความรุนแรงมากขึ้น

อาการ ตับอักเสบจากไวรัสทุกชนิด มักจะมีอาการแสดงคล้าย ๆ กัน จะแยกกันได้แน่ชัด ก็โดยการตรวจหาเชื้อในเลือด

ระยะนำ ผู้ป่วยมักมีอาการอื่น ๆ นำมาก่อนจะมีอาการตาเหลือง ประมาณ 2-14 วัน มีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย   คลื่นไส้ อาเจียน และเป็นไข้  ประมาณ 38-39 ํC     อาจมีอาการปากคอจืด และเหม็นเบื่อบุหรี่อย่างมาก   ปวดเสียดหรือจุกแน่นแถวลิ้นปี่หรือชายโครงขวา   ถ่ายเหลวหรือท้องเดิน หรือมีอาการเป็นหวัด เจ็บคอ ไอ คล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดไหญ่ หรืออาจมีอาการปวดตามข้อ มีลมพิษ ผื่นขึ้นก่อนมีอาการตาเหลือง 1-5 วัน   ผู้ป่วยจะปัสสาวะสีเหลืองเข้มเหมือนขมิ้น และอุจจาระสีซีดกว่าปกติ ระยะนี้มักจะพบว่าตับโต และเคาะเจ็บ

ระยะตาเหลือง เมื่อมีอาการตาเหลือง อาการต่าง ๆ จะเริ่มทุเลา  และไข้จะลดลงทันที   หากยังมีไข้ร่วมกับตาเหลืองอีกหลายวัน ควรนึกถึงสาเหตุอื่น  ตาจะเหลืองเข้มมากที่สุดในสัปดาห์ที่ 1และ 2 แล้วจะค่อย ๆ จางหายไปใน 2-4 สัปดาห์   โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะมีอาการตาเหลืองอยู่ประมาณ 3-5 สัปดาห์   และน้ำหนักตัวอาจลดไป 2-3 กิโลกรัม ในขณะที่ตาเหลืองเริ่มจางลง  จะสังเกตเห็นอุจจาระกลับมีสีเข้มเหมือนปกติ และปัสสาวะสีค่อย ๆ จางลง ระยะนี้ตับยังโตและเจ็บ แต่จะค่อย ๆ ลดน้อยลง ต่อมน้ำเหลืองที่หลังคอและม้ามอาจโตได้

ระยะฟื้นตัว หลังจากหายตาเหลืองแล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายขึ้น แต่ยังอาจรู้สึกเหนื่อยล้า ตับจะยังโตและเจ็บเล็กน้อย ใช้เวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่อาการจะหายสนิทภายใน 3-4 เดือน  หลังมีอาการแสดงของโรค ผู้ป่วยบางคนอาจไม่แสดงอาการตาเหลือง (ดีซ่าน) ให้เห็น หรือคลำตับไม่ได้ มีเพียงอาการอ่อนเพลียคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือปวดเสียดชายโครงขวา ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน

อาการแทรกซ้อน

ส่วนมากมักจะหายเป็นปกติ โดยไม่มีอาการแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นตับอักเสบชนิดเอ ส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีอาการแทรกซ้อน ซึ่งจะพบในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบชนิดบีหรือซี และมักเกิดในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีโรคอื่น ๆ  เช่น หัวใจวาย เบาหวาน มะเร็ง โลหิตจางรุนแรง เป็นต้น อยู่ก่อนแล้ว  โรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงกับทำให้เสียชีวิตในเวลารวดเร็ว  ซึ่งพบได้น้อยมากได้แก่ ตับอักเสบชนิดร้ายแรง (Fulminant hepatitis) ซึ่งเซลล์ของตับถูกทำลาย จนเนื้อตับเสียเกือบทั้งหมด  ผู้ป่วยจะมีอาการตาเหลืองจัด บวม และหมดสติ  ประมาณ 10% ของผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบชนิดบี อาจกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง (Chronic hepatitis) ซึ่งจะมีอาการอ่อนเพลียและตาเหลืองอยู่นานกว่า 6 เดือน ถ้าเป็นชนิดคงที่ (Chronic persistent hepatitis) อาการจะไม่รุนแรงและมักจะหายได้เป็นปกติภายใน 1-2 ปี แต่ถ้าเป็นชนิดลุกลาม (Chronic active hepatitis) ก็อาจกลายเป็นโรคตับแข็งได้ แพทย์สามารถแยกชนิดคงที่ออกจากชนิดลุกลามได้ด้วยการเจาะเอาเนื้อตับพิสูจน์

  นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบชนิดบีหรือซีแบบเรื้อรัง หรือเป็นพาหะของเชื้อชนิดบีหรือซีอยู่นาน30-40 ปีขึ้นไป อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับได้

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้นเท่านั้น

การรักษา

หากสงสัย ควรส่งตรวจเพิ่มเติมโดยการเจาะเลือดทดสอบการทำงานของตับ (Liver function test) ซึ่งจะพบว่ามีระดับ เอนไซม์เอสจีโอที (SGOT) และเอสจีพีที (SGPT) สูงกว่าปกติเป็นสิบ ๆ เท่า (ปกติมีค่าไม่เกิน 40 หน่วย) ตลอดจนระดับ บิลิรูบิน (Bilirubin ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง) สูง

นอกจากนี้ยังอาจต้องเจาะเลือดตรวจดูชนิดของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคว่าเป็น ตับอักเสบชนิดตับอักเสบชนิดเอหรือบี หรือชนิดอื่น) เมื่อพบว่าเป็นโรคนี้จริง ควรให้การรักษาดังนี้

1. ถ้าพบในเด็กหรือคนหนุ่มสาว ซึ่งอาการโดยทั่วไปดี กินข้าวได้ ไม่ปวดท้องหรืออาเจียน ควรแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวดังนี้

1.1 พักผ่อนอย่างเต็มที่ ห้ามทำงานหนักจนกว่าจะรู้สึกหายเพลีย

1.2 ดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณวันละ 10-15 แก้ว

1.3 กินอาหารพวกโปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ ซุป ถั่วต่าง ๆ ให้มาก ๆ ส่วนอาหารมันให้กินได้ตามปกติ ยกเว้นในรายที่กินแล้ว   คลื่นไส้อาเจียนให้งด

1.4 ถ้าเบื่ออาหารให้ดื่มน้ำหวานหรือน้ำตาลกลูโคส  ถ้ากินอาหารได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำหวานหรือกลูโคสให้มากขึ้น

1.5 ถ้ามีอาการท้องอืดหรือคลื่นไส้ ควรงดอาหารมัน

1.6 แยกสำรับกับข้าวและเครื่องใช้ส่วนตัวออกจากผู้อื่น

1.7 ล้างมือหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง ส่วนยาไม่จำเป็นต้องให้ ยกเว้นในรายที่เบื่ออาหาร อาจให้กินวิตามินรวม หรือวิตามินบีรวม วันละ2-3 เม็ด, หรือถ้าคลื่นไส้ อาจให้ยาแก้อาเจียน   ถ้ากินไม่ได้ อาจให้ฉีดกลูโคสหรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น

2. ถ้าอาการตาเหลืองไม่จางลงใน 2 สัปดาห์ หรือมีไข้สูง อ่อนเพลียมาก น้ำหนักลดมาก ปวดท้องมากหรืออาเจียนมาก หรือพบในคนสูงอายุ ควรแนะนำไปรักษาที่โรงพยาบาล หากมีอาการมากอาจรับไว้รักษาในโรงพยาบาลสักระยะหนึ่งในการติดตามผลการรักษา อาจต้องนัดตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ ประมาณทุก 2-4 สัปดาห์

ผลการรักษา ส่วนใหญ่จะหายดี  ตาหายเหลือง หายเพลีย กินข้าวได้มาก และผลเลือดเป็นปกติ ภายใน 3-16 สัปดาห์ ส่วนน้อยอาจเป็นเรื้อรัง ซึ่งถ้าเป็นนานเกิน 6 เดือน  เรียกว่า ตับอักเสบเรื้อรัง(มักเกิดกับตับอักเสบชนิดบีหรือซี) ซึ่งอาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ทำสะแกนตับ(Liver scan) หรือเจาะเอาเนื้อตับ พิสูจน์ (Liver biopsy) เพื่อดูว่าเป็นตับอักเสบเรื้อรังชนิดลุกลาม  หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ตับแข็งหรือมะเร็งตับหรือไม่ ถ้าเป็นตับอักเสบเรื้อรังชนิดลุกลามอาจต้องให้การรักษาด้วยยาสเตอรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน

 ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยโรคนี้ห้ามดื่มเหล้า  เพราะอาจทำให้โรคเรื้อรัง หรือกำเริบใหม่ได้

2. ระหว่างที่เป็นโรค ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจมีพิษต่อตับ เช่น พาราเซตามอล , เตตราไซคลีน ,ไอเอ็นเอช , อีริโทรไมซิน , ยาคุมกำเนิด เป็นต้น

3. เข็มฉีดยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคนี้ ควรทิ้งไปเลย ห้ามนำไปใช้ฉีดผู้อื่นต่อ เพราะอาจแพร่เชื้อได้

4. คนที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ไม่จำเป็นต้องกลายเป็นโรคตับอักเสบเสมอไปทุกคน บางคนอาจมีเชื้ออยู่ในร่างกายเพียงชั่วคราว โดยไม่เป็นโรคแล้ว เชื้อหายไปได้เองบางคนอาจมีเชื้ออยู่ในร่างกาย  โดยไม่มีอาการแสดงแต่อย่างไร แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เราเรียกว่าพาหะนำโรค (carrier) ที่สำคัญ คือ โรคตับอักเสบชนิดบี  ซึ่งพบคนที่เป็นพาหะนำโรคตับอักเสบชนิดบี ประมาณ 10% ของคนทั่วไป  ประมาณ 50% ของคนทั่วไปจะเคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี และมีภูมิคุ้มกันแล้ว บางคนหลังได้รับเชื้อ   อาจมีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลียคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือคลื่นไส้อาเจียน จุกเสียดท้อง โดยไม่มีอาการตาเหลืองก็ได้eyes_yellowing

5. ผู้ที่เป็นพาหะนำโรคตับอักเสบชนิดบีหรือซี    จะพบเชื้อในกระแสเลือดโดยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างไร ควรหาทางพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ห้ามดื่มเหล้า ออกกำลังแต่พอควร ห้ามหักโหมจนเกินไป   อย่าอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก งดบริจาคโลหิต และหมั่นตรวจเลือดดูเชื้อและทดสอบการทำงานของตับทุก 6-12 เดือน ผู้ที่เป็นพาหะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจเกิดโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับแทรกซ้อน โดยมากมักจะเกิดกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสบีหรือซี จากมารดามาตั้งแต่เกิด แล้วเชื้อจะอยู่ในร่างกายจนย่างเข้าวัย 40-50 ปี ก็อาจเกิดผลแทรกซ้อนตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มเหล้า หรือตรากตรำงานหนัก

6. ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรคหรือเป็นพาหะนำโรคตับอักเสบชนิดบี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นสามีหรือภรรยาควรตรวจเลือด ถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกันโรค ควรฉีดวัคซีนป้องกัน

7. หญิงตั้งครรภ์ทุกคนจะต้องได้รับการตรวจเลือดดูว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือไม่ ถ้าพบว่ามีเชื้อ ทารกที่เกิดมาทุกคนจะต้องได้รับการฉีดสารอิมมูนโกลบูลิน (Hepatitis B immune globulin/HBIG) และฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบจากไวรัสชนิดบี จะช่วยป้องกันมิให้ทารกติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้

8.การตรวจเลือดวินิจฉัยตับอักเสบชนิดบีสำหรับโรคตับอักเสบชนิดบี ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจเลือด เพื่อการวินิจฉัยโรคนี้ ซึ่งมีศัพท์เฉพาะหลายคำ ที่ใคร่จะขอแนะนำไว้ในที่นี้ ดังนี้

HBsAg หมายถึง แอนติเจนที่อยู่บนผิวของเชื้อไวรัสชนิดบี เรียกว่า Hepatitis B surface antigen

HBcAg หมายถึง แอนติเจนที่อยู่ตรงแกนกลางของเชื้อไวรัสชนิดบี เรียกว่า Hepatitis B core antigen

HBeAg หมายถึง แอนติเจนส่วนแกนกลางของไวรัสที่ละลายอยู่ในน้ำเลือด   สามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะฟักตัวของโรค  ก่อนมีอาการแสดง

Anti-HBs หมายถึง แอนติบอดี (ภูมิต้านทาน) ต่อแอนติเจน HBsAg ซึ่งจะตรวจพบตั้งแต่ระยะหลังติดเชื้อประมาณ 4-6 เดือนไปแล้ว ผู้ที่มี Anti-HBs จะไม่ติดเชื้อไวรัสชนิดบีอีก

Ant-HBc หมายถึง แอนติบอดี (ภูมิต้านทาน) ต่อแอนติเจน HBcAg ซึ่งจะตรวจพบตั้งแต่ระยะหลังติดเชื้อ 4-6 สัปดาห์ไปแล้ว และจะพบอยู่ตลอดไป  โดยทั่วไปมักจะเจาะเลือดตรวจหา HBsAg, Anti-HBs และ Anti-HBc ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยโรคดังนี้

(1) ถ้าตรวจไม่พบสารตัวใดตัวหนึ่งดังกล่าวเลย ก็แสดงว่าไม่เคยติดเชื้อ และไม่มีภูมิต้านทานต่อตับอักเสบจากไวรัสชนิดบี ควรฉีดวัคซีนป้องกัน

(2) ถ้าตรวจพบ HBsAg เพียงอย่างเดียว แสดงว่ากำลังติดเชื้อ หรือเพิ่งเป็นโรคนี้ สามารถติดต่อให้ผู้อื่นได้

(3) ถ้าตรวจพบ Anti-HBc เพียงอย่างเดียว แสดงว่าเคยติดเชื้อมาไม่นาน แต่เวลานี้ไม่มีเชื้อแล้วและไม่ติดต่อ (แพร่เชื้อ) ให้ผู้อื่น

(4) ถ้าตรวจพบ HBsAg ร่วมกับ Anti-HBc แสดงว่ากำลังติดเชื้อ อาจเป็นแบบเฉียบพลัน หรือเป็นพาหะเรื้อรัง สามารถติดต่อให้ผู้อื่นได้ สำหรับผู้ที่เป็นพาหะเรื้อรัง การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบีไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถช่วยกำจัดเชื้อ หรือกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อนี้ได้

(5) ถ้าตรวจพบ Anti-HBc ร่วมกับ Anti-HBs แสดงว่าเคยติดเชื้อมาก่อน และมีภูมิต้านทานแล้ว จะไม่ติดเชื้อซ้ำอีก

(6) ถ้าตรวจพบ Anti-HBs เพียงอย่างเดียว แสดงว่าเคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน จะไม่เป็นโรคนี้

สัญญาณเตือนโรคตับอักเสบ   หากมีอาการเหล่านี้ให้ระวังโรคตับอักเสบ

    • เบื่ออาหาร
    • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
    • คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้
    • ปวดเสียดหรือจุกแน่นแถวลิ้นปี่หรือชายโครงขวา
    • มีไข้ เจ็บคอ ไอคล้ายไข้หวัด
    • ปัสสาวะสีเหลืองเข้มเหมือนขมิ้น
    • อุจจาระสีซีดกว่าปกติ
    • ตาเหลือง
    • ตับโตและกดเจ็บ

    การป้องกัน

    1. สำหรับตับอักเสบชนิดเอ ควรกินอาหารสุกที่ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด ถ่ายลงส้วม ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังถ่ายอุจจาะทุกครั้ง

    2.สำหรับตับอักเสบชนิดบี

        2.1  ควรหลีกเลี่ยงการฉีดยา หรือให้น้ำเกลือโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องฉีดยา ควรเลือกใช้เข็มและกระบอกฉีดยาที่ทำให้ปราศจากเชื้อโรค

        2.2  ในการให้เลือด ควรหลีกเลี่ยงการใช้เลือดที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยการตรวจเช็คเลือดของผู้บริจาคทุกราย

        2.3  แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข   ควรระมัดระวังในการสัมผัสถูกเลือดของผู้ป่วย เช่น สวมถุงมือขณะเย็บ แผล ผ่าตัด หรือสวนปัสสาวะผู้ป่วย

        2.4  ปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ฉีดป้องกันตับอักเสบชนิดบี ควรฉีดวัคซีนป้องกัน ในเด็กแรกเกิดควรฉีดตั้งแต่วันแรกที่เกิด วัคซีนชนิดนี้จะฉีดให้ 3 ครั้ง  ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 จะห่างจากครั้งแรก 1 และ 6 เดือนตามลำดับ  สำหรับผู้ใหญ่ก่อนฉีดวัคซีนชนิดนี้ ควรตรวจเลือดเสียก่อน หากพบว่าเป็นพาหะหรือมีภูมิคุ้มกันแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์

    3. หากมี อาการตาเหลือง  ปวดแน่นชายโครงขวา   เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย   คลื่นไส้ อาเจียน ให้รีบมาพบแพทย์